หมวดหมู่: พาณิชย์

การส่งออก


ส่งออก ก.พ.67 เพิ่ม 3.6% บวก 7 เดือนติด รวมยอด 2 เดือนขยายตัว 6.7%

พาณิชย์ เผยส่งออก ก.พ.67 มีมูลค่า 23,384.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 3.6% บวกต่อเนื่อง 7 เดือนติด รวมยอด 2 เดือน 46,034.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 6.7% คาดส่งออกยังมีแนวโน้มดี จากการฟื้นตัวของภาคการผลิต เศรษฐกิจคู่ค้าดีขึ้น แต่ยังต้องเกาะติดจีนต่อไป จับตาส่งออก มี.ค. อาจลด เหตุฐานปีก่อนสูงมาก ยันทั้งปียังคงเป้า 1-2% เหมือนเดิม          

นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือน ก.พ.2567 มีมูลค่า 23,384.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.6% ขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 827,139 ล้านบาท การนำเข้ามีมูลค่า 23,938.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.2% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 856,508 ล้านบาท ขาดดุลการค้ามูลค่า 554 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 29,369 ล้านบาท รวม 2 เดือนปี 2567 (ม.ค.-ก.พ.) การส่งออกมีมูลค่า 46,034.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.7% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 1,611,719 ล้านบาท นำเข้ามูลค่า 49,346.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.9% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 1,747,195 ล้านบาท ขาดดุลการค้า 3,311.9 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 135,476 ล้านบาท

สำหรับ การส่งออกที่เพิ่มขึ้น เป็นการเพิ่มขึ้นของสินค้าเกษตร 7.5% ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน แต่สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ลด 9.2% หดตัวในรอบ 6 เดือน โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ข้าว ยางพารา อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป สิ่งปรุงรสอาหาร นมและผลิตภัณฑ์จากนม กาแฟ ส่วนสินค้าที่หดตัว เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ทั้งนี้ 2 เดือนของปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 3.7%

ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 5.2% ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ทั้งนี้ 2 เดือนของปี 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 7.7%

      ทางด้านตลาดส่งออก ตลาดหลัก เพิ่ม 2.7% โดยขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ 15.5% สหภาพยุโรป (27) เพิ่ม 3.3% และ CLMV เพิ่ม 4.5% แต่จีน ลด 5.7% ญี่ปุ่น ลด 5.8% และอาเซียน (5) ลด 1.2% ตลาดรอง เพิ่ม 3.8% โดยขยายตัวในตลาดทวีปออสเตรเลีย 26.4% ลาตินอเมริกา 7.9% รัสเซียและกลุ่ม CIS 46.4% แต่เอเชียใต้ ลด 2.6% ตะวันออกกลาง ลด 9.9% แอฟริกา ลด 18.2% และสหราชอาณาจักร ลด 7.3% ตลาดอื่นๆ เพิ่ม 94.2% อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่ม 198.2%

     นายกีรติ กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกจากนี้ คาดว่า จะยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง จากภาคการผลิตฟื้นตัว และเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญเติบโตอย่างแข็งแกร่ง สินค้าเกษตร ได้รับปัจจัยบวกจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ได้รับผลดีจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัว สินค้าอุตสาหกรรม เช่น อิเล็กทรอนิกส์เติบโตตามกระแสเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงพาณิชย์ยังคงร่วมมือทำงานกับภาคเอกชนเพื่อส่งเสริมการตลาด และมีการผลักดันสินค้าของ SMEs ไปต่างประเทศ แต่ก็ต้องจับตาการเติบโตของเศรษฐกิจจีนที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และมีความไม่แน่นอน ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกได้

     “ต้องจับตาการส่งออกในเดือน มี.ค.2567 ที่ฐานปีก่อนสูงมาก ส่งออกได้สูงถึง 28,004.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่จะมีผลต่อการส่งออก แต่ก็ยังเชื่อมั่นว่าการส่งออกจะยังโตได้ต่อเนื่อง และทั้งปี จะทำงานหนัก เพื่อให้การส่งออกเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 1-2% ต่อไป”นายกีรติกล่าว

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้การขนส่งทางทะเล เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แต่ราคาก็ยังสูงกว่าปกติ 1-2 เท่า หากสามารถบริหารจัดการได้ ก็จะไม่กระทบต่อการส่งออก ส่วนตัวเลขเดือน มี.ค.2567 คาดว่าจะส่งออกได้ประมาณ 25,500-26,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน ที่ส่งออกได้ 28,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ไตรมาสแรกปี 2567 จะส่งออกได้รวม 71,500-72,500 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 1-2% ส่วนไตรมาส 2 คาดว่าการส่งออกจะยังขยายตัวได้ดี ประเมินว่าจะอยู่ที่ 71,600 ล้านเหรียญสหรัฐ

 การส่งออก

ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย ประจำเดือนกุมภาพันธ์ และ 2 เดือนแรกของปี 2567 🚢✈️🌏📊

      การส่งออกของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีมูลค่า 23,384.9 ล้านเหรียญสหรัฐ (827,139 ล้านบาท) ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ที่ร้อยละ 3.6 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 2.3 การส่งออกของไทยยังคงเติบโตต่อเนื่องตอบรับการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและความเชื่อมั่นด้านการบริโภคที่กลับมา สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อโลกที่อยู่ในระดับขยายตัวต่อเนื่อง การส่งออกภาคอุตสาหกรรมของไทยยังขยายตัวต่อเนื่องและเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ โดยเฉพาะสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ หม้อแปลงไฟฟ้า โทรศัพท์ และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ ในขณะที่สินค้าเกษตรขยายตัวได้ดีจากข้าวและยางพารา สำหรับวิกฤตการณ์ในทะเลแดงส่งผลกระทบเล็กน้อย โดยการส่งออกไปตลาดยุโรปและซาอุดีอาระเบียยังคงขยายตัว ทั้งนี้ การส่งออกไทย 2 เดือนแรก ขยายตัวร้อยละ 6.7 และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 5.6

 

📊 มูลค่าการค้ารวม

💰 มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ

    เดือนกุมภาพันธ์ 2567 การส่งออก มีมูลค่า 23,384.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 3.6 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 23,938.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 3.2 ดุลการค้า ขาดดุล 554.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาพรวม 2 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออก มีมูลค่า 46,034.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 6.7 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 49,346.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 2.9 ดุลการค้า 2 เดือนแรกของปี 2567 ขาดดุล 3,311.9 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

💰 มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท

      เดือนกุมภาพันธ์ 2567 การส่งออก มีมูลค่า 827,139 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 12.3 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 856,508 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 11.7 ดุลการค้า ขาดดุล 29,369 ล้านบาท ภาพรวม 2 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออก มีมูลค่า 1,611,719 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 11.3 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 1,747,195 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.9 ดุลการค้า 2 เดือนแรกของปี 2567 ขาดดุล 135,476 ล้านบาท

 

📊 การส่งเสริมการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ และแนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไป การส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ดำเนินงานที่สำคัญในเดือนกุมภาพันธ์ อาทิ

     1 - การลงนามความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ศรีลังกา นับเป็น FTA ฉบับที่ 15 ของไทย ทำให้ไทยมีคู่ค้า FTA เพิ่มเป็น 19 ประเทศ โดยในภาคการค้าสินค้าจะลดภาษีระหว่างกันกว่าร้อยละ 85 ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด ภาคการค้าบริการจะเปิดให้ไทยถือหุ้นสาขาบริการและการลงทุนได้ร้อยละ 100 ในสาขาที่ตกลงร่วมกัน คาดว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.02 มูลค่า 80 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะมีผลใช้บังคับภายในปี 2567 นี้

     2 - การส่งเสริมเขตปลอดอากรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ลงพื้นที่ร่วมกับผู้แทนของสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน เยี่ยมชมเขตปลอดอากรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (eWTP Thailand Duty Free Zone) ที่ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นเขตปลอดอากรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แห่งแรกในไทย โดยกระทรวงพาณิชย์มีนโยบายให้ไทยใช้ประโยชน์จาก eWTP ของจีน เพื่อให้สินค้าที่ขายผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซของไทยได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีดังกล่าว

     3 - กิจกรรมจับคู่ธุรกิจสินค้าผลไม้สด แปรรูป และผลิตภัณฑ์เกษตรอื่น ๆ เพื่อรองรับมาตรการกีดกันทางการค้า โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เชิญผู้นำเข้าที่มีศักยภาพจากภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก เช่น จีน สหภาพยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และกลุ่มประเทศ CLMV เป็นต้น เข้าร่วมงาน โดยมีผู้ส่งออกไทยเข้าร่วมโครงการกว่า 100 บริษัท มีสินค้าเป้าหมายหลัก อาทิ ทุเรียน ลำไย มังคุด มะพร้าว และผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปต่าง ๆ มีกิจกรรมจับคู่ธุรกิจทั้งรูปแบบ Onsite และ Online เพื่อสนับสนุนและเพิ่มโอกาสทางการค้าให้กับเกษตรกรไทย และผู้ประกอบการไทย รวมทั้งประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ให้กับสินค้าผักและผลไม้ไทยด้วย

 

📊 แนวโน้มการส่งออกในปี 2567

    กระทรวงพาณิชย์คาดว่า มูลค่าการส่งออกของไทยภาพรวมของปีนี้จะขยายตัวได้จากอุปสงค์ภาคการผลิตที่กลับมาสู่ระดับปกติทำให้ปริมาณการค้าโลกกลับมาขยายตัว และกระแสความมั่นคงทางอาหารที่ยังช่วยให้สินค้าเกษตรของไทยยังคงเติบโตได้ดี แต่ยังมีความไม่แน่นอนจากเศรษฐกิจของคู่ค้าในตลาดหลักอย่างจีน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นที่ฟื้นตัวล่าช้า ภัยแล้งที่กระทบต่ออุปทานสินค้าเกษตร ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องและหามาตรการรองรับต่อไป

.

💾 ข้อมูลฉบับเต็ม: ในคอมเมนต์ด้านล่าง

.

ติดตามข้อมูลเศรษฐกิจการค้าก่อนใครที่

📌 LINE: @TPSO.tradeinsights

📌 Website : tpso.go.th

 

 

Click Donate Support Web  

kasat 720x100CKPower 720x100MTL 720x100TU720x100sme 720x100

ธกส 720x100

ใจฟู720x100pxPF 720x100

 

TOA 720x100

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!