EXIM BANK และ ibank ผนึกกำลังหน่วยงานพันธมิตรภาครัฐ ภาคเอกชน ยกระดับผู้ประกอบการสินค้าฮาลาลสู่การส่งออก
EXIM BANK และ ibank ใช้จุดแข็งและบทบาทสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทำหน้าที่ “มากกว่าธนาคาร” ผนึกกำลังหน่วยงานพันธมิตรภาครัฐ ภาคเอกชน ขยายความร่วมมือเพื่อยกระดับระบบนิเวศของอุตสาหกรรมฮาลาลไทยในทุกมิติ ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 'โครงการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการสินค้าฮาลาลสู่การส่งออก' ที่จะขับเคลื่อนการเติบโตของการส่งออกอุตสาหรรมฮาลาลไทยในปีนี้
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการและผู้จัดการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ibank) พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย นายสมัย เจริญช่าง กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยและประธานคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร
นายไพศาล พรหมยงค์ กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสมุทรปราการ นางศิริเพ็ญ เกียรติเฟื่องฟู รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย นางนิตยา พิระภัทรุ่งสุริยา ที่ปรึกษาสถาบันอาหาร นายพิตรพิบูล ธีร์จันทึก ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ผศ.ดร.อัสมัน แตอาลี ผู้อำนวยการสถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 'โครงการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการสินค้าฮาลาลสู่การส่งออก' โดยมีผู้แทนจุฬาราชมนตรี นายประสิทธิ์ มะหะหมัด เลขานุการจุฬาราชมนตรี ร่วมเป็นสักขีพยาน เพื่อส่งเสริมศักยภาพและสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ไทยให้สามารถส่งออกสินค้าฮาลาลไปยังตลาดต่างประเทศได้ ผ่านการบูรณาการความร่วมมือในการส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ทางวิชาการด้านฮาลาล ทิศทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศในโลกยุคใหม่
การเข้าถึงการขอเครื่องหมายรับรองมาตรฐานฮาลาล การขยายโอกาสทางการค้าผ่านกิจกรรมจับคู่ธุรกิจและการออกงานแสดงสินค้าในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและเครื่องมือทางการเงินเพื่อเสริมศักยภาพของธุรกิจและการบริหารความเสี่ยงทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ณ โรงแรมอัล มีรอซ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2567
ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการและผู้จัดการ ibank เปิดเผยว่า ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ พ.ศ.2555 ถึง 2565 มีรายงานการเติบโตของการใช้จ่ายผู้บริโภคจากตลาดฮาลาลเพิ่มสูงขึ้นกว่า 40% จาก 1.62 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ไปถึง 2.29 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งการเติบโตนี้เกิดจากแรงผลักดันของการขยายประชากรมุสลิมที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยวันนี้มีเกือบ 2,000 ล้านคนทั่วโลก
โดยกลุ่มบริษัทระดับโลก ตั้งแต่ BRF บริษัทอาหารยักษ์ใหญ่ของโลก เนสท์เล่ ไปจนถึง Nike ลงทุนและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบโจทย์ตลาดฮาลาล นอกจากนี้สถาบันเพื่อการพัฒนาในกลุ่ม OIC ได้แก่ The Islamic Development Bank (ISDB) หรือ The Islamic Centre for Development of Trade (ICDT) พร้อมด้วยหน่วยงานสำคัญขององค์กรสหประชาชาติ เช่น UNHCR รวมถึง World Bank ก็ให้ความสนใจกับการเงินอิสลามในมิติด้านสังคม ประเทศไทย
โดยรัฐบาลก็เล็งเห็นการขยายตัวของตลาดฮาลาลโลก ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญของอุตสาหกรรมฮาลาลไทย จึงทำให้มีแนวคิดจัดตั้งหน่วยงานหรือคณะทำงานต่างๆ ขึ้นเพื่อขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทย โดยในวันนี้ ibank และ EXIM BANK ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านฮาลาลครอบคลุมทุกภาคส่วนของประเทศ
เพื่อตกลงร่วมกันผลักดันส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการสินค้าฮาลาลไทยสู่ตลาดโลก และจากบทบาทของ ibank ภายใต้ความร่วมมือนี้ ibank ถือเป็นหนึ่งในระบบนิเวศฮาลาลที่สำคัญ การเป็นสถาบันการเงินที่ฮาลาลกลายเป็นหนึ่งกลไกสำคัญที่ต้องรับผิดชอบต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ด้วยการเป็นที่พึ่งของแหล่งเงินทุนที่ฮาลาลตั้งแต่ต้นน้ำ เพื่อจะไปหล่อเลี้ยง เกื้อกูล ธุรกิจฮาลาลต่างๆ ให้เติบโตสู่เป้าหมายประเทศต่อไป
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า ตลาดสินค้าฮาลาลได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นไม่จำกัดเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคชาวมุสลิม แต่ยังขยายวงกว้างไปสู่กลุ่มผู้บริโภคอื่นๆ ที่ไม่ใช่ชาวมุสลิมด้วย นับเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยโอกาสอีกมากสำหรับผู้ประกอบการทั่วโลกรวมทั้งไทย
โดยไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารฮาลาลรายใหญ่อันดับที่ 15 ของโลกและเป็นจุดหมายท่องเที่ยวอันดับ 4 ของนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมทั่วโลก (ในกลุ่มประเทศ Non-OIC) ที่สนใจสินค้าอาหารและการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของไทยเป็นอย่างมาก ขณะที่ผู้ส่งออกอาหารฮาลาลรายใหญ่ของโลกที่ส่งออกไปกลุ่มองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ได้แก่ บราซิล อินเดีย สหรัฐฯ รัสเซีย และอินโดนีเซีย
ส่วนผู้นำเข้าอาหารฮาลาลในกลุ่ม OIC รายใหญ่ของโลก ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ตุรกี ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ผู้ประกอบการไทยจึงควรยกระดับการพัฒนาสินค้าฮาลาล โดยเฉพาะอาหาร ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพและอัตลักษณ์ที่โดดเด่นเป็นที่นิยมระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นอาหารฮาลาลโดยธรรมชาติ (Natural Halal) เช่น ผัก ผลไม้ หรืออาหารที่ได้รับการรับรองตามหลักศาสนาอิสลามว่าชาวมุสลิมสามารถบริโภคได้ (Halal by Certification)
ซึ่งจะได้รับการยอมรับในระดับสากลถึงความสะอาด ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์และเลือดสัตว์ถูกต้องตามหลักศาสนา และไม่ทารุณสัตว์ เป็นต้น EXIM BANK จึงพร้อมสานพลังกับหน่วยงานพันธมิตร สร้างผู้ส่งออกสินค้าฮาลาลของไทยที่แข่งขันได้ในตลาดโลก ผ่านการเติมความรู้ เติมโอกาส และเติมเงินทุน
รวมถึงเครื่องมือทางการเงินที่ช่วยบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ทั้งนี้ EXIM BANK จัดให้มีสิทธิพิเศษด้านประกันการส่งออกให้แก่ลูกค้าของ ibank ที่เป็นชาวมุสลิม และสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการไทยทั่วไปที่ต้องการเงินทุนจาก EXIM BANK เพื่อเริ่มต้นส่งออกสินค้าฮาลาลหรือขยายธุรกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในอัตราพิเศษ เพื่อสร้างนักรบเศรษฐกิจไทยในตลาดโลกและยกระดับสินค้าอาหารไทยสู่สากล สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาลสู่ ASEAN Halal Hub ภายในปี 2571
ภายใต้ความร่วมมือนี้ EXIM BANK ibank และหน่วยงานพันธมิตรรวม 14 หน่วยงาน โดย 9 หน่วยงานลงนามในวันนี้ และอีก 5 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา และสตูล จะร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 'โครงการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการสินค้าฮาลาลสู่การส่งออก'
ภายในงาน WORLD HAPEX 2024 จังหวัดสงขลา ทุกหน่วยงานมีบทบาทในการเป็น Business Partner เคียงข้างผู้ประกอบการสินค้าฮาลาลตลอดวงจรธุรกิจ เพื่อติดอาวุธผู้ประกอบการไทยให้พร้อมออกไปแข่งขันในตลาดสินค้าฮาลาลได้อย่างประสบความสำเร็จ โดยมุ่งหวังว่า 'โครงการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการสินค้าฮาลาลสู่การส่งออก' จะสร้างชุมชนนักธุรกิจระหว่างประเทศระดับแนวหน้า
โดยยกระดับศักยภาพของนักธุรกิจ และการสร้าง Network ระหว่างพันธมิตร สามารถต่อยอดธุรกิจ องค์ความรู้ ประสบการณ์ และพัฒนาช่องทางการส่งออกสินค้าฮาลาลจากโครงการนี้ พร้อมเติบโตเป็นนักรบเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง เพื่อเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของภาคการส่งออกและการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของไทย
ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ สามารถสมัครขอรับบริการด้านสินเชื่อเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนหรือขยายการลงทุนจาก EXIM BANK สำหรับ SMEs ที่เป็นผู้ส่งออกและผู้ผลิตเพื่อผู้ส่งออก ได้แก่ สินเชื่อเอ็กซิมเริ่มต้นส่งออก อัตราพิเศษเริ่มต้น 5.35% ต่อปี (Prime Rate - 1%) วงเงินสูงสุด 3 ล้านบาท ผู้เข้าร่วมโครงการนี้จะได้รับส่วนลดปีแรก 0.25% ต่อปี สินเชื่อ EXIM Green Start อัตราพิเศษเริ่มต้น 4.10% ต่อปี (Prime Rate - 2.25%) วงเงินสูงสุด 200 ล้านบาท
ผู้เข้าร่วมโครงการนี้จะได้รับส่วนลด 6 เดือนแรก 0.25% ต่อปี และสินเชื่อเอ็กซิมเติมทุนส่งออก อัตราพิเศษเริ่มต้น 4% ต่อปี วงเงินสูงสุดสำหรับ SMEs 20 ล้านบาท ผู้เข้าร่วมโครงการนี้จะได้รับส่วนลด 6 เดือนแรก 0.25% ต่อปี รวมถึงยกเว้นค่าธรรมเนียมแรกเข้า สินเชื่อเพื่อธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อัตราพิเศษเริ่มต้น 3.85% ต่อปี วงเงินสูงสุด 200 ล้านบาท และกรมธรรม์ประกันส่งออก EXIM for Small Biz เพื่อคุ้มครองความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศ ฟรี! ค่าเบี้ยประกัน 1 ราย มูลค่า 1,800 บาท
สำหรับ การรับประกันวงเงินผู้ซื้อ 0.30 ล้านบาท ด้วยเทอมการชำระเงิน 90 วัน หรือรับส่วนลดค่าประเมินความเสี่ยงผู้ซื้อตามเงื่อนไขของธนาคาร และกรณีที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้าฮาลาลจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม Voucher มูลค่าสูงสุด 2,000 บาท เพื่อเป็นส่วนลดค่าเบี้ยประกันบริการประกันการส่งออก EXIM for Small Biz สำหรับการทำประกันผู้ซื้อรายที่ 2 หรือส่วนลดค่าประเมินความเสี่ยงผู้ซื้อ จำนวน 1 ราย
สำหรับ ibank ได้ร่วมขับเคลื่อนยุทธศาตร์ IGNITE THAILAND ออกสินเชื่อ IGNITE HALAL สนับสนุนทางการเงินเสริมสภาพคล่อง และการลงทุนให้ผู้ประกอบการธุรกิจฮาลาล ที่เป็นกลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยว กลุ่มธุรกิจการแพทย์และสุขภาพ และกลุ่มธุรกิจอาหาร หวังผลักดันธุรกิจ SMEs ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ให้สามารถเข้าแหล่งเงินทุนฮาลาล ให้วงเงินสินเชื่อขั้นต่ำ 1 ล้านบาท สูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท ผ่อนนานสูงสุด 7 ปี ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน
โดยมี บสย.ค้ำประกันวงเงินสินเชื่อ พิเศษ! รัฐบาลสนับสนุนค่าธรรมเนียมค้ำประกันให้นานถึง 3 ปี ตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของ บสย. และสำหรับลูกค้าที่มีสถานประกอบการในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ibank มอบส่วนลดพิเศษ 3 เดือนแรก คิดอัตราผ่อนชำระเพียง 50% ของค่างวดปกติ
IGNITE HALAL เป็นโครงการสินเชื่อเพื่อสนับสนุนทางการเงินให้กับผู้ประกอบการ SMEs ใน 3 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยว กลุ่มธุรกิจอาหาร และกลุ่มธุรกิจการแพทย์และสุขภาพ หรือเป็น Supply Chain ของกลุ่มธุรกิจข้างต้น เช่น ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย ค้าปลีก ค้าส่ง และร้านค้า ที่ต้องการแหล่งเงินทุนฮาลาลเพื่อนำไปลงทุนในการขยายกิจการในรูปแบบวงเงินสินเชื่อแบบมีระยะเวลา (Term Financing) และเพื่อเสริมสภาพคล่องในรูปแบบวงเงินเบิกถอนเงินสด (Islamic O/D)
โดยคุณสมบัติผู้ขอสินเชื่อ เป็นผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นบุคคลธรรมดานับถือศาสนาอิสลาม หรือ นิติบุคคลที่มีผู้ถือหุ้นนับถือศาสนาอิสลามไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุนที่ชำระแล้ว หรือ เป็นผู้ประกอบธุรกิจที่มีผลิตภัณฑ์และบริการที่ได้รับเครื่องหมายรับรองฮาลาลเรียบร้อยแล้ว หรือ เป็นผู้ประกอบการที่มีสถานประกอบการ/โครงการ/การลงทุนที่ไม่ขัดต่อหลักชะรีอะฮ์ ที่อยู่ในพื้นที่จังหวัด สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส เพื่อตอกย้ำพันธกิจของ ibank ในการสนับสนุนธุรกิจฮาลาลตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
โครงการข้างต้นของทั้งสองหน่วยงานจะช่วยให้ SMEs ไทยมีโอกาสผันตัวเป็นผู้ส่งออกได้มากขึ้น ควบคู่กับการพัฒนาสินค้าอาหารไทยสู่มาตรฐานสากล ท่ามกลางปัจจัยท้าทายและโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจในโลกการค้าปัจจุบัน โดยใช้จุดแข็งของประเทศไทยในการพัฒนาสินค้าอาหารให้ได้มาตรฐานสากล เจาะตลาดที่มีศักยภาพและกำลังซื้อสูง
โดยชาวมุสลิมทั่วโลกมีอยู่ราว 2,000 ล้านคน มากถึง 1 ใน 4 ของประชากรโลก กระจายอยู่ในภูมิภาคต่างๆ อีกทั้งเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศมุสลิมหลายประเทศเติบโตสูงกว่าตลาดหลัก ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในครั้งนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจอาหารฮาลาล และธุรกิจที่เกี่ยวข้องมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยมี EXIM BANK และ ibank เป็น Business Partner อยู่เคียงข้างตลอดวงจรธุรกิจ ขับเคลื่อนการพัฒนาในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ
8161