หมวดหมู่: กลต.

SEC


อย่างไรถึงจะใช่ Transition?

โดย ฝ่ายตราสารหนี้
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)


          บทความฉบับนี้ เป็นตอนที่ 3 โดยจะเน้นในเรื่องการเงินเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (transition finance)[1] และเครื่องมือต่างๆ เพื่อใช้ประกอบการวางแผนการ transition ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศหรือภูมิภาค เช่น Taxonomy และการกำหนดรายการเทคโนโลยีสำหรับการ transition ในแต่ละสาขา (Technology Roadmap for Transition Finance) 

 

          Taxonomy กับการกำหนดนิยามและจัดหมวดหมู่กิจกรรม transition

          ในปัจจุบันยังไม่มีนิยามของ transition เป็นที่ยอมรับและใช้ร่วมกันในระดับสากล เพราะเส้นทางการเปลี่ยนผ่าน (transition pathway) ของแต่ละประเทศและภูมิภาคแตกต่างกันออกไป ทิศทางและพัฒนาการของการกำหนดนิยามการ transition จึงไม่ใช่การสร้างมาตรฐานเดียวกันที่ต้องนำมาบังคับใช้ทั่วโลก แต่เป็นการสร้างมาตรฐานในระดับประเทศหรือภูมิภาคที่มีหลักการและแนวคิดที่ชัดเจน มีความโปร่งใส สะท้อน transition pathway ที่เหมาะสมตามระดับการพัฒนาของเศรษฐกิจ เทคโนโลยี โดยยังต้องคำนึงถึงเป้าหมายการลด GHG เพื่อให้นิยามดังกล่าวมีความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และช่วยดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ

          หนึ่งในเครื่องมือที่ตอบโจทย์ คือ Taxonomy ซึ่งเป็นการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้งในกลุ่มอาเซียนและไทยได้เริ่มจัดทำ Taxonomy แล้ว โดยมีลักษณะเป็น Traffic light system ที่จะแบ่งสีของกิจกรรมทางเศรษฐกิจออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ สีเขียว สีเหลือง และสีแดง หากมองการลดการปล่อย GHG (climate mitigation) สีเขียว คือ กิจกรรมที่ไม่ปล่อย GHG หรือปล่อยน้อยมาก สีเหลือง คือ กิจกรรมที่ยังปล่อย GHG อยู่ และอยู่ระหว่างการปรับตัวเพื่อลดระดับการปล่อยลงเรื่อยๆ (transition activity) ส่วนสีแดง คือ กิจกรรมที่ไม่สามารถถูกประเมินได้ว่าสนับสนุนด้าน climate mitigation

 

9575 SEC

 

          สำหรับไทยและอีกหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจที่พึงพิงอุตสาหกรรมการผลิตเป็นหลัก ทำให้ยังมีการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างเข้มข้น จึงมีหลายกิจกรรมที่ยังไม่เข้าข่ายเป็นสีเขียวจำนวนมาก ซึ่งการจะเข้าสู่หมวดหมู่สีเหลืองได้[3] ก็มีการกำหนดเกณฑ์และตัวชี้วัดไว้อย่างชัดเจน ว่ากิจกรรมจะต้องปรับลดความเข้มข้นของการปล่อย GHG ลงเรื่อยๆ ตามกรอบเวลาที่กำหนด จะช่วยจัดสรรเงินทุนไปยัง transition activity ที่มีความมุ่งมั่นในการลด GHG และมีแผนการลดที่ชัดเจน ลดข้อกังวลเรื่อง greenwashing หรือ transition-washing[4] และลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิด stranded asset จากความต้องการสินค้าและความต้องการลงทุนที่ลดลงในกิจกรรมที่ปล่อย GHG สูง ซึ่งอาจส่งผลต่อเนื่องไปยังรายได้ การผลิต การจ้างงาน และระบบเศรฐกิจโดยรวมในอนาคต

 

          Technology Roadmap for Transition Finance

          นอกจากนี้ ยังมี Technology Roadmap for Transition Finance ที่เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่เข้ามาช่วยให้เกิดการจัดสรรเงินทุน เพื่อการ transition ได้อย่างตรงจุด ยกตัวอย่าง ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่ริเริ่มพัฒนา Roadmap ดังกล่าว เพื่อเป็นแนวทางในการ transition ให้ผู้ประกอบการภายในประเทศ จนปัจจุบันมีความครอบคลุม 10 สาขา[5] โดยใน Roadmap ของแต่ละสาขาจะกำหนดรายการเทคโนโลยีด้านการ transition พร้อมกับกรอบเวลาที่จะศึกษาและพัฒนา ทดลองใช้ (demonstrate) นำมาใช้จริง และนำเข้าสู่ตลาด (commercialize) เช่น ในภาคพลังงาน การนำเทคโนโลยีด้านไฮโดรเจนมาเป็นเชื้อเพลิงผสมในการผลิตไฟฟ้า (Hydrogen co-firing) จะนำมาทดลองใช้จนถึงปี 2025 หลังจากนั้นจะนำมาใช้จริง และเริ่มใช้ทางการค้า (commercialize) ในปี 2030 เป็นต้น ดังนั้น การจัดทำ Technology Roadmap อาจเหมาะกับญี่ปุ่นที่เป็นประเทศชั้นนำในการพัฒนาและส่งออกเทคโนโลยี อีกทั้งอาจมีความยุ่งยากและซับซ้อนน้อยกว่า Taxonomy ที่ต้องมีการกำหนดเกณฑ์และตัวชี้วัดแบบเชิงปริมาณ (เช่น ข้อมูลการปล่อย GHG) อย่างไรก็ดี Taxonomy ก็มีข้อดี เนื่องจากมีความยืดหยุ่นในเรื่องการใช้เทคโนโลยีใดก็ได้ เพียงแค่สามารถควบคุมความเข้มข้นของการปล่อย GHG ให้เป็นไปตามเกณฑ์ได้ ก็ถือว่าเข้าข่ายเป็น transition activity และ Taxonomy ก็เป็นเครื่องมือที่ได้รับความนิยมเนื่องจากมีเกณฑ์การประเมินที่ชัดเจนและมีความโปร่งใส

          ทั้งนี้ กิจการสามารถนำหมวดหมู่สีเหลืองและสีเขียวที่กำหนดไว้ใน taxonomy ไปใช้ประกอบการพิจารณาได้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่บริษัทประกอบธุรกิจอยู่นั้น เข้าข่ายเป็น transition activity หรือไม่ และควรวางทิศทางและแผนงานในการลดการปล่อย GHG ลงอย่างไรและมีเป้าหมายเท่าใด จึงจะสามารถเข้าข่าย transition และเปลี่ยนผ่านไปสู่ระดับสีเขียว (green activity) ได้ นอกจากนี้ กิจการยังสามารถอ้างอิง Technology Roadmap for Transition Finance ในการเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับธุรกิจและอุตสาหกรรม ตาม Roadmap ดังกล่าว ซึ่งได้รับการคัดเลือกและศึกษามาแล้วว่าสามารถช่วยลด GHG เพื่อส่งเสริม transition ของกิจการ ได้อีกทางหนึ่งด้วย

          สำหรับ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 ครอบคลุมกิจกรรมในภาคพลังงาน และภาคการขนส่ง ซึ่งปัจจุบัน คณะทำงาน Thailand Taxonomy อยู่ระหว่างพัฒนา Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 เพื่อให้ครอบคลุมอีก 4 สาขา ได้แก่ การจัดการขยะและของเสีย ภาคอุตสาหกรรม อาคารและการก่อสร้าง และเกษตร ป่าไม้ และการประมง ซึ่ง Thailand Taxonomy ทั้ง 2 ระยะ มีการกำหนดหมวดหมู่สีเหลืองในบางกิจกรรมตามความเหมาะสมกับบริบทของประเทศเพื่อรองรับ transition activity โดย ก.ล.ต. คาดว่า Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 จะสามารถเผยแพร่ได้ภายในปี 2568 

          ในบทความนี้ ก.ล.ต. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้อ่านจะเข้าใจและเห็นภาพของ transition activity มากยิ่งขึ้น และตระหนักถึงความสำคัญในการจัดสรรเงินทุนไปยังกิจกรรมเหล่านี้ สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับเครื่องมือทางการเงินที่พัฒนาขึ้นเพื่อรองรับการระดมทุนในการ transition อย่างโปร่งใสและน่าเชื่อถือ ก.ล.ต. จะขอนำมาเล่าในตอนต่อไป 

 

 

[1] ฉบับที่ 1 บทความเรื่อง เส้นทางการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (transition pathway) เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2567 https://www.sec.or.th/TH/Template3/Articles/2567/090567.pdf

ฉบับที่ 2 บทความเรื่อง 6 Characteristics ของการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2567

https://www.sec.or.th/TH/Template3/Articles/2567/270867.pdf

[2] รวมถึงจะต้องทำตามเกณฑ์และตัวชี้วัดอื่นๆ ที่อาจจะมีการกำหนดไว้เป็นการเฉพาะสำหรับกิจกรรมนั้นๆ เช่น ต้องติดตั้งระบบป้องกันการรั่วไหลของ GHG ต้องคำนวณปริมาณการปล่อย GHG โดยการประเมินวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Assessment: LCA) ต้องมีการทวนสอบปริมาณการปล่อย GHG โดยผู้ประเมินอิสระ เป็นต้น

[3] ปัจจุบัน หลายประเทศและภูมิภาคทั่วโลก จัดทำ Taxonomy ที่มีหมวดหมู่สีเหลืองสำหรับ transition activity เช่น อาเซียน ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย รวมถึงมีประเทศที่อยู่ระหว่างการพิจารณา เช่น ฮ่องกง และออสเตรเลีย

[4] ธุรกิจหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อ้างว่ามีความสอดคล้องหรือตอบโจทย์ด้านความยั่งยืน/การเปลี่ยนผ่าน แต่ไม่ได้ดำเนินการด้านความยั่งยืน/การเปลี่ยนผ่าน อย่างแท้จริง หรือดำเนินการต่ำกว่าระดับที่ได้อ้างไว้

[5] น้ำมัน ก๊าซ พลังงาน เหล็กและเหล็กกล้า ซีเมนต์ เคมิคอล ยานยนต์ เยื่อและกระดาษ การขนส่งทางน้ำ และการบิน

 

 

9575

Click Donate Support Web 

Banner GPF720x100 PXTOA 720x100

EXIM One 720x90 C JMTL 720x100

SME720x100 2024

CKPower 720x100

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

kbank 720x100 66

ธกส 720x100PTG 720x100

ใจฟู720x100px

AXA 720 x100

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!