หมวดหมู่: มติ ครม.

Gov 08


ขอความเห็นชอบแผนอัตรากำลังโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567-2570

          คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการแผนอัตรากำลังโรงพยาบาลพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหาร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567-2570 (แผนอัตรากำลังฯ) จำนวน 130 อัตรา งบประมาณรวมทั้งสิ้น 40.25 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ ทั้งนี้ แผนอัตรากำลังดังกล่าวจะส่งผลต่อการเพิ่มอัตรากำลังด้านบุคลากรและภาระค่าใช้จ่ายในอนาคต จึงเห็นควรที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังจะพิจารณาดำเนินการเท่าที่จำเป็น อย่างประหยัดและคุ้มค่า ตามภารกิจ และคำนึงถึงความครอบคลุมของทุกแหล่งเงินที่จะนำมาใช้จ่าย โดยเฉพาะรายได้หรือเงินนอกงบประมาณอื่นใดที่สถาบันมีอยู่ หรือสามารถนำมาใช้จ่ายได้เป็นลำดับแรก เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ และเกิดผลสัมฤทธิ์ในการบริหารจัดการภาครัฐอย่างยั่งยืน ตามนัยพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

          สาระสำคัญของเรื่อง

          อว. รายงานว่า 

          1. เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 ได้มีการจัดตั้งมูลนิธิโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร โดยสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงรับมูลนิธิโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารไว้ในพระสังฆราชูปถัมภ์ มีวัตถุประสงค์ ดังนี้

              1.1 จัดสร้างโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร

              1.2 ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษา การค้นคว้าวิจัย และการดำเนินการกิจการพิเศษที่เกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)

              1.3 ให้ทุนการศึกษา ฝึกอบรม วิจัย ของคณาจารย์ นักศึกษา ข้าราชการ และพนักงาน สจล.

              1.4 สนับสนุนการพัฒนาของโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร

              1.5 ดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์หรือร่วมมือกับองค์กรการกุศลอื่นๆ เพื่อสาธารณประโยชน์ มูลนิธิอาจจะบริจาคเงินและทรัพย์สินให้กับมูลนิธิอื่นได้หรือรับบริจาคจากมูลนิธิอื่นด้วย

              1.6 ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด

          2. การจัดสร้างโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารมีเป้าหมายในการพัฒนาไปสู่การเป็นโรงพยาบาลแห่งอนาคต (Future Hospital)1 ซึ่งเป็นแนวคิดของโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยจำนวนมากไม่จำเป็นต้องนอนที่โรงพยาบาลและสามารถพักรักษาตัวที่บ้านได้ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เนื่องจากโรงพยาบาลแห่งอนาคตจะมีห้องที่แพทย์และผู้เชี่ยวชาญสามารถใช้สำหรับการพูดคุยกับผู้ป่วยผ่านสมาร์ทโฟน ส่งผลให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคในระดับสาธารณสุขมูลฐาน (Primary Healthcare)2 ไม่จำเป็นต้องมาพบหมอผู้เชี่ยวชาญที่ให้บริการสาธารณสุขระดับสูง (Tertiary Healthcare)3 ซึ่งการรักษาพยาบาลจะมีต้นทุนสูงและหากเป็นผู้ป่วยที่ต้องได้รับการดูแลพิเศษจะยิ่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ โรงพยาบาลจะมีเครื่องตรวจร่างกายที่ทันสมัย มีห้องตรวจสำหรับติดตามอาการหลังผ่าตัดระยะสั้นและห้องฉุกเฉินเท่านั้น และข้อมูลทั้งหมดของคนไข้จะถูกวิเคราะห์โดยซอฟต์แวร์โปรแกรมที่ทันสมัย เช่น การอ่านฟิล์มจากเครื่องตรวจได้อย่างแม่นยำแทนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญพร้อมให้คำแนะนำ เพื่อเป็นข้อมูลให้แพทย์สามารถตัดสินใจได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งนี้ การเปลี่ยนโฉมนวัตกรรมทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วย ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ให้บริการด้านสุขภาพจะก่อให้เกิดเครือข่ายการแพทย์ระบบดิจิทัล (Digital Healthcare) ที่ครอบคลุมและเชื่อมต่อระบบการปฏิบัติงานทางการแพทย์ทุกแขนงด้วยดิจิทัลหรือคอมพิวเตอร์ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบกระบวนการ เช่น การบริหารจัดการผู้ป่วย การจัดทำข้อมูลประวัติการรักษาผู้ป่วยในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ การจัดการด้านเวชภัณฑ์ การวินิจฉัยโรค โดยนำนวัตกรรมการบริการด้านสุขภาพมาใช้ในการให้บริการทางการแพทย์ในอนาคต (Innovative Hospital) ได้แก่ การแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine) การแพทย์ทางไกล (Telemedicine) และการแพทย์แห่งอนาคต (Future Medicine) มาใช้ในกระบวนการจัดการซึ่งจะเป็นรากฐานสำหรับระบบการแพทย์ที่มีคนไข้เป็นจุดศูนย์กลาง

          3. ผลการดำเนินการที่ผ่านมา 

              3.1 โรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารได้รับงบประมาณสนับสนุนจากโครงการสลากการกุศลเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 665.10 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร (อาคารหลังใหม่) จำนวน 1 หลัง พื้นที่ 29,834.60 ตารางเมตร แบ่งออกเป็น 5 ชั้น ประกอบด้วย 

                   ชั้นใต้ดิน ได้แก่ ส่วนบริการและสนับสนุน

                   ชั้นที่ 1 ได้แก่ ส่วนบริการ OPD ส่วนวินิจฉัยและบำบัดรักษา ส่วนอเนกประสงค์และบริการกลาง (Service core)4 

                   ชั้นที่ 2 ได้แก่ ส่วนพิเคราะห์และบำบัดโรค ส่วนอเนกประสงค์และบริการกลาง (Service core) 

                   ชั้นที่ 3 ได้แก่ ส่วนวิจัยและทดสอบ และส่วนหอ IPD 

                   ชั้นที่ 4 ได้แก่ ส่วนหอ IPD

                   ชั้นที่ 5 ได้แก่ ส่วนหอ IPD 

              ทั้งนี้ ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2565 โดยส่งมอบงวดงานแล้ว 11 งวดงาน จากทั้งหมด 15 งวดงาน และคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและพร้อมเปิดให้บริการผู้ป่วยภายในเดือนสิงหาคม 2567 

              3.2 โรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารเปิดให้บริการผู้ป่วยนอก

(Out-Patient Department: OPD) ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 โดยใช้อาคารของ สจล. (อาคารหลังเดิม) เป็นที่ทำการสำหรับให้บริการในส่วนต่างๆ ได้แก่ คลินิกทั่วไป ศูนย์กายภาพบำบัดและฝังเข็ม แผนกรังสีวิทยา ศูนย์การนอนหลับ ศูนย์ส่องกล้องทางเดินอาหาร ศูนย์ตรวจสมรรถภาพหัวใจ คลินิกกุมารเวชและโรคภูมิแพ้ และคลินิกให้คำปรึกษา/จิตเวช ทั้งนี้ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563-2566 มีผู้เข้ารับบริการ สรุปได้ ดังนี้

 

ผู้มารับบริการ

จำนวนผู้มารับบริการด้านสุขภาพในแต่ละปีงบประมาณ (คน/ปี)

.. 2563

.. 2564

.. 2565

.. 2566

ผู้ป่วย OPD

16,733

14,982

37,776

38,280

 

              นอกจากนี้ ยังมีศูนย์วิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ ประกอบด้วย งานวิจัยและนวัตกรรมและงานทดสอบมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ โดยใช้เป็นศูนย์สำหรับการเรียนการสอนในพื้นที่ห้องปฏิบัติการ การบริการวิชาการร่วมกันของคณะแพทยศาสตร์และคณะต่างๆ รวมถึงการค้นคว้าวิจัย โดยเป็นการบูรณาการภารกิจตามนโยบายการใช้ทรัพยากรร่วมกันของ สจล. ซึ่งที่ผ่านมามีการวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรมที่มีความสำคัญในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เช่น ตู้ตรวจเชื้อชนิดความดันลบและชนิดความดันบวก หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อด้วยแสง UVC5 เครื่องสแกนอุณหภูมิด้วยระบบสแกนใบหน้าและปัญญาประดิษฐ์

              3.3 ปัจจุบันโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารมีอัตรากำลังบุคลากรรวมทั้งสิ้น 49 อัตรา แบ่งเป็น ฝ่ายบริหาร 10 อัตรา ฝ่ายบริการทางการแพทย์ 18 อัตรา บุคลากรแพทย์ 20 อัตรา (สังกัดคณะแพทยศาสตร์ สจล.) และฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม 1 อัตรา

          4. การก่อตั้งโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารจะทำให้เกิดการกระจายระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยไปยังพื้นที่ห่างไกล ลดการกระจุกตัวของผู้ป่วยในเขตเมือง และให้บริการที่มีคุณภาพด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ รวมทั้งจะช่วยในการผลิตแพทย์ การฝึกอบรมแพทย์ การกระจายตัวของแพทย์ และการรองรับการส่งต่อผู้ป่วยในพื้นที่กรุงเทพมหานครฝั่งตะวันออก ดังนั้น เพื่อเป็นการรองรับการดำเนินงานและเตรียมความพร้อมในการเปิดบริการโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร (อาคารหลังใหม่) ในเดือนสิงหาคม 2567 โรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารจึงได้จัดทำแผนอัตรากำลังฯ ประกอบด้วย ฝ่ายบริหาร ฝ่ายบริการทางแพทย์และฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม เพื่อมุ่งสู่การเป็นโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิขนาด 60 เตียง ซึ่งสภา สจล. มีมติเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567 เห็นชอบแผนอัตรากำลังฯ ฉบับปรับปรุง เดือนมีนาคม 2567 ด้วยแล้ว สรุปได้ ดังนี้

              4.1 วัตถุประสงค์

                   (1) เป็นโรงพยาบาลสำหรับดูแลรักษาผู้ป่วย นักศึกษา บุคลากรและประชาชนทั่วไปในขั้นทุติยภูมิ รวมถึงการป้องกันและฟื้นฟูโดยเฉพาะผู้สูงอายุ

                   (2) เป็นศูนย์วิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์

                   (3) เป็นสถานที่สำหรับฝึกอบรมนักศึกษาแพทย์ชั้นคลินิก

                   (4) เป็นศูนย์กลางต้นแบบในการศึกษาดูงานให้แก่โรงพยาบาล หรือหน่วยงานที่สนใจ

              4.2 แผนการดำเนินงาน

                   (1) อัตรากำลังที่เสนอขอตั้งใหม่ (อัตราใหม่พนักงานสถาบันเงินงบประมาณ6) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567-2570 (4 ปี) ซึ่งเป็นอัตรากำลังสายสนับสนุนทั้งหมด รวมจำนวน 130 อัตรา งบประมาณ 40.25 ล้านบาท สรุปได้ ดังนี้

 

ปีงบประมาณ ..

อัตรา (คน)

งบประมาณ (ล้านบาท)

2567

22

6.86

2568

77

24.00

2569

15

5.33

2570

16

4.06

รวม

130

40.25

 

                  ทั้งนี้ อัตรากำลังสายสนับสนุนที่เสนอขอในครั้งนี้ ประกอบด้วย ฝ่ายบริหาร เช่น นักทรัพยากรบุคคล นักวิชาการพัสดุ ฝ่ายบริการทางการแพทย์ เช่น แพทย์ พยาบาล เภสัชกร7 และฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม ได้แก่ วิศวกร นักวิจัย โดยกรอบอัตรากำลังเป็นไปตามหลักเกณฑ์อัตรากำลังพึงมีของโรงพยาบาลชุมชน กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

                   (2) แผนการขยายบริการและความต้องการอัตรากำลังฯ สรุปได้ ดังนี้

 

แผนการขยายบริการ

จำนวนเตียงสะสม (เตียง)

อัตรากำลังสายสนับสนุนที่เสนอขอ (คน)

งบประมาณ

(ล้านบาท)

ปีงบประมาณ .. 2567

(1) บริการผู้ป่วยนอก 250 คนต่อวัน

(2) บริการผู้ป่วยใน 10 เตียง

รายละเอียดที่จะเปิดบริการเพิ่มเติม

ชั้น 1 ส่วนบริการผู้ป่วยนอก

        1) ส่วนต้อนรับและเวชระเบียน

        2) OPD-1 ห้องตรวจทั่วไป 9 ห้องตรวจ

        3) ส่วนงานเภสัชกรรม

        4) ส่วนงานการเงิน

        5) ส่วนงานรังสีวินิจฉัย (บริการ OPD)

ชั้น 2 ส่วนสำนักงาน แผนกงานห้องผ่าตัด

        1) ส่วนสำนักงานและห้องประชุม

        2) ห้องผ่าตัดใหญ่ 1 ห้อง

        3) ส่วนเทคนิคการแพทย์

ชั้น 3 หอผู้ป่วยใน (ให้บริการผู้ป่วยใน 10 เตียง) และหน่วยจ่ายกลาง (Central Sterile Supply Department: CSSD)8]

10

22

(สะสม 22)

6.86

ปีงบประมาณ .. 2568 

(1) บริการผู้ป่วยนอก 350 คนต่อวัน

(2) บริการผู้ป่วยใน 20 เตียง

รายละเอียดที่จะเปิดบริการเพิ่มเติม

ชั้น 1 ส่วนบริการผู้ป่วยนอก

        OPD-2 ห้องตรวจทั่วไป จำนวน 7 ห้องตรวจ

ชั้น 2 คลินิก หู ตา จมูก

        1) ห้องตรวจ หูตา จมูก 6 ห้องตรวจ

        2) ห้องผ่าตัดใหญ่ 1 ห้อง

        3) คลินิกฝังเข็มระงับปวด

        4) แผนกกายภาพบำบัด

ชั้น 3 แผนกวิจัยและทดสอบ

        1) ส่วนวิจัยทางการแพทย์

        2) ส่วนทดสอบเครื่องมือแพทย์

ชั้น 4 หอผู้ป่วยใน (ให้บริการผู้ป่วยใน 20 เตียง และคลินิกเฉพาะทาง)

        1) คลินิกส่องกล้องลำไส้ใหญ่และทางเดินอาหาร

        2) คลินิกกระดูกและข้อ

30

77

(สะสม 99)

24.00

ปีงบประมาณ .. 2569

(1) บริการผู้ป่วยนอก 450 คนต่อวัน

(2) บริการผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉิน 8 คนต่อวัน

(3) บริการผู้ป่วยใน 30 เตียง

รายละเอียดที่จะเปิดบริการเพิ่มเติม

ชั้น 1 ส่วนบริการผู้ป่วยนอก

        1) OPD-2 ห้องตรวจทั่วไป 7 ห้องตรวจ

        2) OPD-3 อุบัติเหตุและฉุกเฉิน 4 ห้องตรวจ

ชั้น 2 คลินิก หู ตา จมูก

        1) ห้องตรวจ หูตา จมูก 6 ห้องตรวจ

        2) ห้องผ่าตัดใหญ่ 1 ห้อง

        3) คลินิกกุมารเวชกรรม

        4) คลินิกประสาทและภูมิแพ้

ชั้น 5 หอผู้ป่วยใน (ให้บริการผู้ป่วยใน 30 เตียง และคลินิกเฉพาะทาง)

        - ศูนย์โรคปอดและการนอนหลับ

60

15

(สะสม 114)

5.33

ปีงบประมาณ .. 2570

(1) บริการผู้ป่วยนอก 500 คนต่อวัน

(2) บริการผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉิน 10 คนต่อวัน

60

16

(สะสม 130)

4.06

รวม

60

130

40.25

 

              4.3 แผนอัตรากำลังฯ จำแนกตามสายงาน สรุปได้ ดังนี้

 

กลุ่ม/ฝ่าย 

ปีงบประมาณ ..

2567

2568

2569 

2570 

2567-2570

อัตรา

(คน)

เงินเดือน+เงินอื่น(ล้านบาท)

อัตรา

(คน)

เงินเดือน+เงินอื่น(ล้านบาท)

อัตรา

(คน)

เงินเดือน+เงินอื่น(ล้านบาท)

อัตรา

(คน)

เงินเดือน+เงินอื่น (ล้านบาท)

อัตรา

(คน)

งบประมาณ

(ล้านบาท)

(1) ฝ่ายบริหาร

1

0.30

2

0.59

1

0.30

1

0.30

5

1.48

(2) ฝ่ายบริการทางการแพทย์

20

6.27

74

23.12

13

4.74

15

3.76

122

37.89

(3) ฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม

1

0.30

1

0.30

1

0.30

-

-

3

0.89

รวมเงินทั้งสิ้น

22

6.86

77

24.00

15

5.33

16

4.06

130

40.25

หมายเหตุ : เนื่องจากมีการปรับทศนิยมเป็นสองหลัก ดังนั้น จึงส่งผลกระทบต่อการคำนวณผลรวมบางรายการในตาราง 

 

          5. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

              5.1 รองรับผู้ใช้บริการการแพทย์และสาธารณสุขได้ ดังนี้

 

ผู้รับบริการ 

การให้บริการในแต่ละปีงบประมาณ (คน/ปี)

.. 2567

.. 2568

.. 2569

.. 2570

ผู้ป่วยนอก

54,000

72,000

90,000

108,000

ผู้ป่วยนอก

-

450

1,800

2,700

 

              5.2 รองรับการฝึกอบรมนักศึกษาแพทย์ชั้นคลินิกระหว่างปีการศึกษา 2567-2570 โดยมีเป้าหมาย ดังนี้

 

หลักสูตร

นักศึกษาแพทย์ชั้นคลินิกที่ผ่านการฝึกอบรมในแต่ละปีงบประมาณ (คน/ปี) 

.. 2567

.. 2568

.. 2569

.. 2570

แพทยศาสตรบัณฑิต

(หลักสูตรนานาชาติ)

49

57

61

65

 

              5.3 ลดการนำเข้าเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์จากต่างประเทศ โดยมีผลสรุปค่าเป้าหมาย ระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2567-2570 ดังนี้

 

รายการ

การลดการนำเข้าเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ในแต่ละปีงบประมาณ (ล้านบาท/ปี)

.. 2567

.. 2568

.. 2569

.. 2570

ลดการนำเข้าเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์

5

10

10

20

 

          6. ค่าใช้จ่ายและแหล่งที่มา อัตรากำลัง จำนวน 130 อัตรา งบประมาณรวมทั้งสิ้น 40.25 ล้านบาท โดยขอรับการจัดสรรงบประมาณเป็นรายปี ดังนี้

 

ปีงบประมาณ

..

อัตรากำลัง

ที่เสนอขอตั้งใหม่

(คน)

เงินงบประมาณ (ล้านบาท)

เงินเดือนเริ่มต้น

เงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานด้านการสาธารณสุข (...)

ค่าเบี้ยเลี้ยง

เหมาจ่าย

รวม

2567

22

5.52

0.55

0.79

6.86

2568

77

19.24

2.04

2.73

24.00

2569

15

3.99

0.64

0.70

5.33

2570

16

3.59

0.11

0.36

4.06

รวม

130

32.34

3.34

4.58

40.25

 

          7. สธ. [สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.)] ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าแผนความต้องการอัตรากำลังฯ มีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาขีดความสามารถซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชน โดยมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม เช่น

              7.1 ควรจัดบริการของโรงพยาบาลให้มีความเหมาะสมกับจำนวนประชากรที่รับผิดชอบและปัญหาสุขภาพตามบริบทของพื้นที่

              7.2 ควรจัดทำแผนอัตรากำลังฯ ให้สนับสนุนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพเชิงพื้นที่และสอดคล้องกับแผนกำลังคนตามการจัดระบบบริการโดยเขตสุขภาพ สธ. ปี 2563-2567 เพื่อให้มีกำลังคนด้านสุขภาพที่เหมาะสมเพียงพอต่อการให้บริการประชาชนตามบริบทของพื้นที่

              7.3 ควรดำเนินการตามข้อสังเกตเพิ่มเติมของสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เช่น ขอให้กำหนดอัตราเงินเดือนของบุคลากรให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2542 ที่กำหนดให้บุคลากรสายวิชาการได้รับค่าจ้าง 1.7 เท่า และบุคลากรสายสนับสนุนได้รับค่าจ้าง 1.5 เท่า ของอัตราเงินเดือนข้าราชการแรกบรรจุ

              ทั้งนี้ โรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารได้ปรับปรุงแผนอัตรากำลังฯ ตามข้อเสนอแนะของ สป.สธ. เรียบร้อยแล้ว

_____________________

1 อว. แจ้งว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารมีการดำเนินงานในลักษณะเดียวกันกับโรงพยาบาลทั่วไป โดยเปิดให้บริการเฉพาะผู้ป่วยนอก 

2 สาธารณสุขมูลฐาน (Primary Healthcare) เป็นการให้บริการสาธารณสุขที่ดำเนินการโดยประชาชนด้วยกันเอง โดยมุ่งเน้นการรักษาอาการเจ็บป่วยพื้นฐาน เช่น อาการปวดหัว เป็นไข้ การทำแผล ซึ่งสามารถเข้าถึงบริการได้ผ่านกลไกในระดับชุมชน เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) 

3 การจัดบริการสาธารณสุขระดับสูง (Tertiary Healthcare) เป็นการให้บริการสาธารณสุขที่จำเป็นต้องอาศัยบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษในการให้บริการเพื่อให้คำแนะนำและรักษาโรคที่มีความซับซ้อน เช่น โรคมะเร็ง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง 

4 อว. แจ้งว่า ส่วนบริการกลาง (Service core) เป็นพื้นที่สำหรับการปฏิบัติงานของแผนก/ฝ่ายต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการให้บริการสาธารณสุข เช่น ฝ่ายบริหารโรงพยาบาล ฝ่ายการเงิน ฝ่ายบริหารงานบุคคล 

5 รังสีอัลตราไวโอเลตชนิด C (UVC) เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่สั้นที่มีความยาวคลื่นระหว่าง 200-280 นาโนเมตร ซึ่งมีความสามารถในการการฆ่าเชื้อโรค ไวรัส และแบคทีเรีย 

6 พนักงานสถาบันเงินงบประมาณ หมายถึง พนักงาน สจล. ที่จ้างด้วยเงินงบประมาณแผ่นดินตามข้อบังคับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ว่าด้วยการบริหารงานทรัพยากรบุคคล พ.ศ. 2562

7 อว. แจ้งว่า เนื่องจากบุคลากรฝ่ายบริการทางการแพทย์ไม่มีภาระงานในการจัดการเรียนการสอน จึงไม่ถือเป็นบุคลากรสายวิชาการ 

8 หน่วยจ่ายกลาง (Central Sterile Supply Department: CSSD) หมายถึง หน่วยงานซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ชนิดใช้ซ้ำที่ผ่านการใช้งานแล้วเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการทำลายเชื้อและทำให้ปราศจากเชื้อก่อโรคปนเปื้อน ก่อนนำเครื่องมือหรืออุปกรณ์ดังกล่าวไปใช้ในการตรวจรักษาและ/หรือช่วยชีวิตผู้ป่วยอีกครั้ง 

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 9 กรกฎาคม 2567

 

 

7290

Click Donate Support Web 

SME720x100 2024

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

EXIM One 720x90 C JMTL 720x100

QIC 720x100

TOA 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

kbank 720x100 66

ธกส 720x100PTG 720x100

ใจฟู720x100px

AXA 720 x100 

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!